ความคิดที่แตกต่างกันของผู้คนทั่วไปในสังคมนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยไร้สาระหรือเรื่องใหญ่ที่มีความสลักสำคัญถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะต่างคนต่างคิด มีทัศนคติไม่เหมือนกัน มีมุมมองที่แตกต่างกัน ส่วนจะถูกหรือผิด หรือผิดๆถูกๆอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวว่าเป็นอย่างไร การได้รับความรู้และการพัฒนาความคิดจากสถานศึกษาเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงประสบการณ์ชีวิตในแต่ละช่วงวัยที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมในชุมชนและสังคมเป็นเช่นไร
การมีหลักคิดที่ถูกต้องและไม่บกพร่องในจิตสํานึกของคนในชาติเป็นสิ่งสำคัญที่ควรมี เพื่อร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญมั่นคงในทุกมิติ ทั้งนี้ครอบครัวมีความสำคัญต่อการดูแลบุตรหลานให้เป็นผู้มีความประพฤติดี เอาใจใส่กับการเรียนและรู้จักพึ่งตนเอง สถานศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนานักเรียน นิสิตและนักศึกษาให้เป็นผู้มีการศึกษา (well educated person) โดยรู้จักกาลเทศะ รู้ว่าอะไรควรหรืออะไรไม่ควร รู้ว่าอะไรเหมาะหรืออะไรไม่เหมาะ รู้จักแยกแยะความผิดชอบชั่วดี อีกทั้งมีความรู้ในด้านวิชาการ (scholar) วิชาชีพ (professional) และทักษะชีวิต (experience) โดยสามารถพึ่งตนเองได้และเป็นพลเมืองดีของบ้านเมือง สื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่สาธารณชน เพื่อให้สังคมไม่ไขว้เขวและสับสนในเรื่องราวต่างๆของบ้านเมือง ทุกภาคส่วนของสังคมจะได้ร่วมกันพัฒนาให้ชาติบ้านเมืองมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น
การออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร หยุดการคุกคามประชาชน เป็นสิทธิทางการเมืองที่กระทำได้ และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดทางการเมืองเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการได้ แต่ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิ่งที่กระทำได้แต่ไม่อาจกระทำผิดกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่อาจล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น นิสิต นักศึกษาจึงต้องมีความระมัดระวังในการใช้สิทธิและเสรีภาพอันพึงมีตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญด้วยความระมัดระวัง
การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ณ บริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ
1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย
6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใด ๆ กับสถาบันกษัตริย์
10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
การเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่บังควร เป็นความเหิมเกริมและก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นความเลือดเย็นอำมหิตและความมีจิตใจทมิฬหินชาติของขบวนการที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง อดีตนักการเมือง ที่สูญเสียอำนาจ นักวิชาการ องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ (Non-Governmental Organizations-NGO) ที่มีแนวความคิดทางการเมืองอย่างสุดโต่งและมีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชนิด “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” โดยอาศัยความร่วมมือและสมคบคิดกับองค์การระหว่างประเทศที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงกับปฏิบัติการในครั้งนี้ ซึ่งคอยทำการยุยงและชักใยอยู่เบื้องหลังโดยอาศัยการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิต นักศึกษามาบังหน้า
การชุมนุมทางการเมืองของนิสิต นักศึกษาอาจจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นผู้ที่มีแนวความคิดทางการเมืองอย่างสุดโต่ง และเป็นผู้ที่ถูกครอบงำความคิดทางการเมืองอย่างผิดๆ จึงถูกชักจูงให้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นแกนนำของการชุมนุม กลุ่มที่ 2 เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีความมุ่งหวังอยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น กลุ่มที่ 3 เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมกับเพื่อนๆด้วยความสมัครใจ รวมถึงได้รับการชักชวนจากเพื่อนๆ ซึ่งกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ที่เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้จะต้องมีความรู้เท่าทันกับเกมการเมืองแย่งชิงอำนาจรัฐของขบวนการที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมืองขอให้รู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังยึดมั่นในโครงสร้างของประเทศที่ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงอย่าได้ตกเป็นเครื่องมือของขบวนการทำลายชาติในครั้งนี้
พึงทราบว่าประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเป็น “คนป่วยของเอเชีย” จากปัญหาทางการเมืองมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ซึ่งในขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับมหันตภัยการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นเวลากว่า 7 เดือนเศษ มีผู้ติดเชื้อสะสมราว 22 ล้านราย และผู้เสียชีวิตสะสมเกือบ 8 แสนราย ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโควิด-19 ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดระลอก 2 หลายประเทศมีการแพร่ระบาดระลอก 2 และระลอก 3 กันแล้ว ในขณะเดียวกันทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในรอบ 100ปี ซึ่งประเทศไทยก็มีปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ นิสิต นักศึกษาได้ชื่อว่าเป็น “ปัญญาชน” พอจะมองเห็นหายนะครั้งร้ายแรงที่กำลังเกิดกับประเทศไทยหรือไม่
การออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองแม้จะมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่สามารถกระทำได้ แต่ควรรับรู้และทำความเข้าใจกับสถานการณ์อันเลวร้ายซึ่งเป็นปัญหาอัรใหญ่หลวงที่ประเทศชาติกำลังประสบอยู่ รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาเพื่อรับมือกับโควิด-19 ให้ได้ หากมีการแพร่ระบาดระลอก 2 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะต้องใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมก็ต้องหยุดชะงักลงเช่นเดียวกับเมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย.63 ประชาชนจะต้องกลับมาดำเนินชีวิตแบบเดิม “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” นับเป็นความสุ่มเสี่ยงและล่อแหลมเป็นอย่างยิ่งกับการรวมตัวชุมนุมของกลุ่มคนอย่างแออัด ภาระการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาและทุกอาชีพ จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการบริหารการเงินและการคลังของประเทศ การกู้เงินรอบใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งสร้างภาระแก่ลูกหลานไทยในอนาคต
สิ่งที่นิสิต นักศึกษาเรียกร้องอยู่นั้น ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้นำเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งมีขั้นตอนและกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ ต้องมีเหตุผลไม่อาจใจเร็วด่วนได้ หากมีการเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมก็สามารถเสนอได้อย่างเต็มที่ การชุมนุมเคลื่อนไหวต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนอย่าได้มีอคติและไม่ใช้อารมณ์ เพื่อให้สมกับความเป็น “ปัญญาชน” ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมืองในภายภาคหน้า
............................................
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
"คิด" - Google News
August 19, 2020 at 08:00PM
https://ift.tt/3l4a7Cz
ความคิดแตกต่างทางการเมือง ต้องมีขอบเขต-เหตุผล - เดลีนีวส์
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog
No comments:
Post a Comment