"เด็กทารกตัวเหลืองก็ต้องเอาไปตากแดด"... เชื่อว่าเป็นหนึ่งคำที่หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินกันมาตั้งแต่จำความได้ เพราะเป็นความเชื่อที่กล่าวต่อๆกันมา ว่าจะสามารถช่วยให้ทารกน้อยที่เกิดอาการตัวเหลืองจากการทานนมแม่นั้น หายตัวเหลืองได้ แต่จริงๆแล้วความเชื่อดังกล่าวนั้นจริงหรือเท็จ.. วันนี้ "Healthy Clean" มีคำตอบมาฝากกัน
โดย "รศ.พญ.วรนุช จงศรีสวัสดิ์" หัวหน้าสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ร่วมไขข้อข้องใจครั้งนี้ว่า โดยปกติแล้วหลังเกิดใหม่ในช่วงสัปดาห์แรก ทารกก็อาจจะมีภาวะตัวเหลืองเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ได้เป็นโรค แต่สำหรับปัญหาของทรากที่มีตัวเหลืองในทารกที่อายุเกิน 2 สัปดาห์ไปแล้ว แต่ตัวเหลืองยังไม่หายไปนั้น อาจเสี่ยงที่จะเกิดโรคตับ หรือโรคท่อน้ำดีตีบตัน
สำหรับ "โรคท่อน้ำดีตีบตัน" สาเหตุที่ชัดเจนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ในทารกส่วนใหญ่หลังเกิดช่วงแรกนั้นมักจะสบายดี แต่หลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้ว ก็จะสังเกตเห็นว่าเริ่มมีอาการตัวเหลืองขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในเมืองไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จะให้ทารกทานนมแม่ ในเด็กบางคนจะมีอาการตัวเหลืองได้ เนื่องจากในนมแม่จะมีสารที่ทำให้กระบวนการการขับถ่ายอาการตัวเหลืองของทารกทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงมีภาวะตัวเหลืองได้นาน "ตรงนี้เอง เป็นจุดที่ทำให้ผู้ป่วยท่อน้ำดีตีบตันมาพบแพทย์ช้า เพราะเข้าใจผิดคิดว่าตัวเหลืองจากน้ำนมแม่"
วิธีการแยกว่าเด็กที่ตัวเหลืองเกิดจากภาวะปกติหรือป่วยเป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันนั้น สามารถสังเกตได้จาก "สีอุจจาระ ปัสสาวะ" ถ้าหากเป็นการตัวเหลืองจากการทานนมแม่ สีอุจจาระจะเป็นหลืองเข้มปกติ ปัสสาวะสีเหลืองใสตามปกติ แต่ถ้าทารกเป็นโรคตับหรือท่อน้ำดีตีบตัน ลักษณะเด่นคืออุจจาระจะสีซีด ในบางรายอุจจาระจะเป็นสีขาวเหมือนน้ำนม ส่วนปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองเข้มมากเหมือนน้ำชา
สำหรับความเชื่อเรื่องการตากแดดเพื่อลดอาการตัวเหลืองนั้น... หากทารกมีอายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป "ไม่แนะนำให้ไปตากแดดหรือให้ดื่มน้ำมากๆ เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง" เพราะเมื่อทารกอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไปแล้วควรจะต้องไปพบกุมารแพทย์โดยด่วน เพื่อให้ช่วยวินิจฉัยว่าเป็นภาวะปกติหรือเกิดโรคขึ้นแล้ว ไม่ควรเสียเวลานำไปตากแดดหรือดื่มน้ำมากๆ นับว่าเป็นการเสียเวลาในการเข้ารับการรักษาโดยด่วน เพราะทารกอาจจะเกิดอาการตับแข็งขึ้นแล้วก็เป็นได้
"ในประเทศไทยที่พบบ่อยในทารกมาก คือ "โรคท่อน้ำดีตีบตัน" ที่นับว่าเป็นโรคที่อันตรายมาก ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดเพื่อระบายน้ำดีลงสู่ลำไส้ภายในอายุ 60 วัน ทารกเหล่านั้นจะเกิดอาการตับแข็ง จนสุดท้ายหากไม่รับการปลูกถ่ายตับก็จะเสียชีวิตลงภายในอายุ 2 ขวบปีแรกเท่านั้น" รศ.พญ.วรนุช กล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันจากข้อมูลของต่างประเทศพบว่า โรคท่อน้ำดีตีบตันในทารกนั้น สามารถพบได้ 1 ต่อ 1 หมื่นคนของทารกเกิดมีชีพหรือทารกที่เกิดมาแล้วมีชีวิตอยู่ต่อ ..ถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่ได้พบบ่อยมากนัก คิดว่าทารกตัวเหลืองเป็นปกติของการทานนมแม่ แต่ความอันตรายของ "โรคท่อน้ำดีตีบตัน" กลับรุนแรงกว่าที่คิด เพียงแค่ 60 วัน คุณก็อาจจะสูญเสียคนที่คุณรักไปโดยไม่ทันตั้งตัว...
....................................
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก : Pixabay, โรงพยาบาลกำแพงเพชร,
"คิด" - Google News
August 15, 2020
https://ift.tt/2FkF5WI
อย่าละเลยโรคตัวเหลืองในเด็ก อันตรายกว่าที่คิด! - เดลีนีวส์
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog
No comments:
Post a Comment