19 กันยายน 2563 | โดย ธนชาติ นุ่มนนท์ | คอลัมน์ Think Beyond
96
ความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่โตแบบก้าวกระโดด ทำให้เริ่มเห็นว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระบบอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียน่ากลัวขึ้น ผู้คนสูญเสียความเป็นส่วนตัวและถูกครอบงำความคิดหลายอย่างจากโซเชียลมีเดียผ่านระบบ AI
เมื่อเร็วๆ นี้ หลังการบรรยาย ผมกำลังเดินทางกลับบ้าน เมื่อก้าวเข้าไปในรถ ก็มีข้อความปรากฏขึ้นบนมือถือ และส่งไปยังนาฬิกาอัจฉริยะ เพื่อแสดงพร้อมกันว่า “อีก 50 นาที จะเดินทางกลับถึงบ้าน” แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการส่งข้อความเช่นนี้เข้ามา เพราะอีกหลายครั้งที่จอดรถ ก็มีข้อความส่งมาที่มือถือหลังลงจากรถ โดยระบุว่า ผมจอดรถที่ใดเช่นกัน หลังพิจารณาอยู่พักหนึ่งทำให้ผมคิดได้ว่า เพราะโทรศัพท์มือถือของผมเชื่อมกับระบบบลูทูธของรถยนต์ ทำให้เชื่อมต่อกับโปรแกรมแผนที่ของมือถือ ซึ่งมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) คอยจดจำว่า ผมเดินทางไปตำแหน่งใดบ่อย และสามารถคาดการณ์พฤติกรรมผมได้ว่าที่ใดเป็นบ้านหรือที่ทำงานของผม
ผมใช้ชีวิตอยู่กับอินเทอร์เน็ตมาเกือบสามสิบปี ใช้โซเชียลมีเดียมากว่าสิบปี และใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอีกมากมาย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาอัจฉริยะ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ทีวี ลำโพงอัจฉริยะ กล้อง เซ็นเซอร์ต่างๆ หลอดไฟ หรือแม้แต่หม้อหุงข้าวก็เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ถ้านับอุปกรณ์เหล่านี้มีมากถึงราว 50 ชิ้น นอกจากนี้การงานยังเกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์ต้องค้นข้อมูล ใช้บริการออนไลน์ต่างๆ มากมาย และใช้โซเชียลมีเดียหลายระบบ
การใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์มานาน ทำให้ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ผมถูกส่งเข้าไปในระบบอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก พฤติกรรมหลายอย่างของผมถูกเก็บข้อมูลไป บริษัทอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลว่า ผมค้นข้อมูลอะไร เดินทางไปที่ใด เลือกดูหนังฟังเพลงออนไลน์อะไร ผมคลิกอะไร ใครบ้างเป็นเพื่อนออนไลน์ ผมคุยกับใคร ชอบอะไร ซื้อสินค้าอะไร ประตูบ้านผมเปิดตอนไหน ใช้โทรศัพท์อะไร รู้กระทั่งว่าผมทำธุรกรรมอะไร ทำให้เชื่อได้ว่า ทุกวันนี้ข้อมูลผมจำนวนมหาศาลถูกเก็บไว้ที่บริษัทต่างๆ เหล่านั้น
ช่วงที่ใช้อินเทอร์เน็ตยุคแรกๆ โซเชียลมีเดียไม่ได้มีความสามารถมากมายเช่นนี้ ข้อมูลยังมีเล็กน้อย การประมวลผลไม่ได้รวดเร็ว ที่สำคัญ คือ อัลกอริทึมของระบบเอไอไม่เก่งเท่านี้ แต่พอเล่นโซเชียลมีเดียมากขึ้น ส่งข้อมูลเข้าอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ระบบเอไอจะเก่งมากขึ้น คาดการณ์พฤติกรรมต่างๆ ของเราได้ดีขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่โตแบบก้าวกระโดด ทำให้เริ่มเห็นว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระบบอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียน่ากลัวขึ้น เราสูญเสียความเป็นส่วนตัว และถูกครอบงำความคิดหลายอย่างจากโซเชียลมีเดียผ่านระบบเอไอ
เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเขียนบทความเรื่อง “การโฆษณาชวนเชื่อในยุคใหม่ผ่านโซเชียลมีเดีย” และชี้ให้เห็นว่า โซเชียลมีเดียกำลังสร้างความแตกแยกให้สังคม โดยใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติมาคอยชักใย ซึ่งพอดีกับทางเน็ตฟลิกซ์ ได้เผยแพร่สารคดี “Social Dilemma” ตีแผ่โซเซียลมีเดียอย่างล้ำลึก ชี้ให้เห็นถึงความน่ากลัวในการเก็บข้อมูลผู้ใช้ โดยมองว่าผู้ใช้ คือ สินค้าที่เจ้าของเทคโนโลยีต้องรู้พฤติกรรมทุกอย่าง
เราเคยดูหนังวิทยาศาสตร์ที่พูดถึงหุ่นยนต์จะครองโลกและมาบงการชีวิตมนุษย์ ซึ่งดูแล้วเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ แต่แท้จริงแล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นจริงจากการที่โซเชียลมีเดียเริ่มครอบงำความคิดเรา บงการทางอ้อมให้เรามีพฤติกรรมตามการแนะนำของระบบเอไอ แนะนำข้อความต่างๆ ให้อ่าน นำเสนอสินค้า แนะนำสถานที่ แนะนำเพื่อนให้เราคุยด้วย รวมทั้งแนะนำหนังหรือเพลงให้เราฟัง
ในสารคดีนี้ได้นำผู้บริหาร ที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ มาให้สัมภาษณ์และพูดถึงความน่ากลัวของการทำงานของระบบ ที่อยากให้คนมาใช้มากๆ และเสพติดที่จะใช้ตลอดเวลา และคอยชักใยการใช้งานผู้ใช้ผ่านระบบเอไอ หลายคนถามหาจริยธรรมบริษัทเหล่านี้ และพวกเขาเองพยายามหยุดการเสพการใช้โซเชียลมีเดีย ลดใช้อินเทอร์เน็ตและมือถือ รวมถึงไม่อยากให้ลูกเล่นจนกว่าอายุ 16 ปี เพราะคนรุ่นใหม่จะเกิดในยุคที่มีระบบดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว อาจมองสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกครอบงำความคิดจากระบบโซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดียทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคม โดยการปลุกปั่นความคิด หากผู้คนมีความคิดแบ่งออกเป็น 2 ข้าง โซเชียลมีเดียจะนำเสนอแต่เรื่องที่เรามีความเห็นตรงกันมาให้เราตลอดเวลาแบบสุดโต่ง โดยไม่ได้รับข้อมูลที่เห็นต่างกันบ้างเลย ข้อมูลเหล่านี้หลายอย่างเป็นข้อมูลเท็จ และมีผลประโยชน์แอบแฝง นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อมูลเท็จจะสามารถเผยแพร่ข้อมูลได้รวดเร็วกว่าข้อมูลจริงถึง 6 เท่า ไม่แปลกใจที่อดีตผู้บริหารเฟซบุ๊คที่ให้สัมภาษณ์ในสารคดีนี้ บอกว่า ความแตกแยกทางสังคมมีโอกาสนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองได้
สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเรา ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการที่เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตนานเกินไป ข้อมูลพฤติกรรมต่างๆ ที่ถูกป้อนเข้าไปทำให้เราเริ่มถูกครอบงำทางความคิด อาจต้องถึงเวลาที่ต้องเริ่มคิดใหม่ว่า บางช่วงอาจต้องหยุดใช้อินเทอร์เน็ต หยุดป้อนข้อมูลบางอย่างให้กับระบบ และถ้าความแตกแยกทางสังคมหนักสุดจนมีแนวโน้มไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง ไม่แน่ว่าเราอาจถึงเวลาต้อง “ปิดสวิตช์โซเชียลมีเดีย” ก็เป็นไปได้
"คิด" - Google News
September 18, 2020 at 12:00PM
https://ift.tt/3hKQ09R
'ปิดสวิตช์โซเชียลฯ' ทางเลือกหยุดกระบวนการปั่นความคิด - กรุงเทพธุรกิจ
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog
No comments:
Post a Comment