โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระดมความคิดจากสถาบันวิชาการชั้นนำ ภาคธุรกิจ และประชาชน ประเดิมเวทีแรกที่หาดใหญ่ ศึกษาสภาพปัญหา ผลกระทบ ตลอดจนแนวทางแก้ไขในภาพรวมของมิติต่างๆ ในสังคมของภาคใต้ เพื่อนำประเทศไทยผ่านวิกฤตและพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เป็นองค์กรที่ยึดหลักการ “ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน
สถาบันฯ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติ COVID-19 จึงเป็นที่มาของแปดองค์กรที่จะช่วยกันมองและหาทางในการนำประเทศผ่านวิกฤตในครั้งนี้ ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงานโครงการ
โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” มีกรอบคิดหรือประเด็นการวิเคราะห์ที่สำคัญ เช่น บริบทของสังคมโลก และประเทศไทยก่อนวิกฤติโควิด-19 และเมื่อโควิด-19 ได้ส่งผลอะไรต่อสังคมโลกและประเทศไทย สังคมโลกต้องเปลี่ยนและประเทศไทยต้องปรับอะไร และทิศทางที่ควรจะเป็นเป็นเช่นไร คนไทยมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด และหากจำเป็นต้องปรับ หรือเปลี่ยนต้องเตรียมการอย่างไร และ หารูปแบบหรือโมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย
นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า โดยรวมโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้มีการกระจุกตัว โดยเน้นหนัก 4 ภาค เป็นภาคการเกษตร โดยมีสัดส่วน ร้อยละ 20 ซึ่งการเกษตรเกือบ ร้อยละ 60 ปลูกพืชเชิงเดี่ยวยางพารา และปาล์มน้ำมันประมาณ ร้อยละ 20 ที่เหลือจะเป็นการเลี้ยงกุ้งขาว และสวนผลไม้ ภาคการท่องเที่ยว ที่พัก ร้อยละ 70 กระจุกตัวฝั่งอันดามัน ซึ่งต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศ เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้รับผลกระทบรุนแรง
ภาคค้าปลีกค้าส่ง มีการปรับตัวค่อนข้างดีแต่อาจจะไม่ใช่ทุกกลุ่ม ปรับตัวโดยอาศัยการพึ่งพาเทคโนโลยี เช่นการสั่งของออนไลน์ ช่วยลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้น
ภาคการผลิต เน้นการส่งออก ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศจีน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศดังกล่าวระงับการสั่งซื้อ
ในมิติการจ้างแรงงาน แรงงานในภาคใต้ร้อยละ 50 ยังอยู่ในภาคเกษตรกร และยังมีแรงงานอยู่นอกระบบไม่มีประกันสังคมค่อนข้างสูง
โดยเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ของภาคใต้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งการใช้จ่ายเอกชน ท่องเที่ยว การลงทุน อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งมาตรการช่วยเหลือ การเยียวยา ช่วยพยุงเศรษฐกิจภาคใต้
ส่วนภาวะในแง่ของการจ้างงาน และหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีการจ้างงาน หรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนด้วย
ปัญหาในแง่ระยะยาวผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัว ซึ่งจะต้องร่วมมือกับภาครัฐในการวางยุทธศาสตร์กระจายหรือปรับตัวเพื่อรองรับกับพฤติกรรมใหม่ เดิมทีแรงงานอาจจะเคลื่อนที่ไปอยู่ในที่ที่มีกิจกรรมเศรษฐกิจ แต่เทรนด์ใหม่แรงงานอาจจะอยู่กับที่ แต่กิจกรรมเศรษฐกิจต้องเคลื่อนที่ไปหาแรงงาน ทำให้มีแนวคิดที่จะใช้เทคโนโลยีมาแทนแรงงาน และอีกปัญหาคือการป้อนแรงงานของประเทศไทยตามความต้องการของตลาดน้อยลง
นายสมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมโดย IMF ได้ประเมินครึ่งปีแรกว่าในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะติดลบ 49% จากปี 2562 คาดการณ์ว่าปีหน้าจะโต 5.4% จากปี 2563 กลุ่มอาเซียน +5 ปี 2563 จะติดลบ 2% ในปี 2564 ภาพรวมจะโตขึ้น 6.2% สำหรับในประเทศไทยปี 2563 ติดลบ 7.7% และปี 2564 จะเพิ่มขึ้นมา 5% ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 ประเทศไทยก็ประสบปัญหากับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศลดลงรวมทั้งสงครามเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 79% ของจีดีพี เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายสิ่งที่หนักกว่าเดิมคือเมื่อหลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์เปิดประเทศและการระบาดของโควิด-19รอบ2 เริ่มมีเค้าลางว่าจะรุนแรง ทำให้ประเทศไทยต้องเลื่อนแผนการเปิดประเทศรับต่างชาติออกไปอีก
ด้านแรงงานนั้น คนไทยมีงานทำ 37.3 ล้านคน เป็นผู้ว่างงาน 3-4 แสนคน เป็นงานที่อยู่ในประกันสังคมที่ได้รับความช่วยเหลือมี 11 ล้านคน และอาชีพอิสระที่ได้รับเงินเยียวยา5 พันบาท 8 ล้านคน
ส่วนเศรษฐกิจภาคใต้ ขนาดสัดส่วนเศรษฐกิจ 8.6% ของจีดีพี โดยเศรษฐกิจภาคใต้มีทิศทางดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแม้หลายเรื่องชี้ยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชมีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
ความเชื่อมั่นด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 82.5% เหตุมาจากการปลดล็อกดาวน์ เริ่มมีการใช้สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แม้จะมีปัจจัยลบด้านผู้ประกอบการมีความกังวลสภาพคล่องเข้าถึงสินเชื่อ การฟื้นตัวของภาคการส่งออก และความกังวลเรื่องการระบาดโควิดรอบ2
สำหรับดัชดีความเชื่อมั่นอุตสากรรมภาคใต้อยู่ที่ 80.6% ผู้ประกอบการเริ่มมีความมั่นใจ โดยคาดการณ์ว่าอีกสามเดือนข้างหน้าดัชนีความเชื่อมั่นภาคใต้จะอยู่ที่ 89% ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการคือเรื่องการเมืองภายในประเทศ ราคาน้ำมันที่มีแน้วโน้มจะสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เช่น การพักหนี้ ลดการส่งเงินประกันสังคม เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและเร่งการเบิกจำยงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
นายณัฐนนท์ พงษ์ธัญญะวิริยา ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ภาพรวมในการจ้างงานและช่วยเหลือภาคการเกษตรและเศรษฐกิจฐานราก โดยสถานการณ์โดยรวมของพื้นที่ประเทศจากไตรมาสที่ 2 จีดีพีของประเทศ ติดลบ10-15% และไตรมาสที่ 3 ติดลบ 8-10%
ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว และส่งออก จากต่างประเทศ เมื่อเกิดโควิด-18 ระบาดทำให้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สำหรับภาคใต้เองนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียประมาณ 5 ล้านคนต่อปี และภาคการส่งออกโดยประมาณแล้วลดลง 30 % ดังนั้นการปรับตัวคือจะต้องเที่ยวกันเอง เป็นลักษณะการเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงกันก่อน การท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงดีขึ้นแล้ว จากนั้นก็โปรโมทในพื้นที่ภูมิภาคเดียวกัน
สำหรับภาคการเกษตรควรมีการหาอาชีพทดแทนหรือปลูกพืชแซมยางพารา เช่นการเลี้ยงแพะซึ่งทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังฯ ก็ได้ส่งเสริมอยู่ การเลี้ยงไก่เบตง วัว กำลังเริ่มเพาะพันธ์ปูทะเล ส่งเสริมการปลูกเมล่อน
ส่วนสภาพปัญหาและผลกระทบโควิด-19 โดยข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่าภาคใต้จะเกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น 33% ไม่รวมคนจบใหม่และแรงงานนอกระบบ ซึ่งทั้งประเทศคาดการณ์ว่าจะมีคนว่างงาน 7 ล้านคน สิ่งที่น่ากังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยจากการคาดการณ์ว่าในปี 2563 หนี้ครัวเรือนจะขยับไปที่ 80% ต่อจีดีพี ซึ่งในปี 2562 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 79% และเป็นสาเหตุหลักที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากปล่อยสินเชื่อ ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ มีการทรุดตัว 83% ภาคการท่องเที่ยวทรุดตัว 85% ภาคอสังหาริมทรัพย์ทรุดตัว 15% และคาดการณ์ว่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีในการฟื้นตัว
ภาคการค้าธุรกิจที่กระทบหนักหรือห้างสรรพสินค้า ทรุดตัวไป 40 % ในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด และยังไม่มีทีท่าเรื่องวัคซีนจะใช้ได้ผล กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคือ มนุษย์เงินเดือน บุคคลที่ทำงานในห้างสรรพสินค้า ภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ เทรนนิ่ง สอนพิเศษ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะกระทบ และยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนเข้ามาแทรกซ้อน
กลุ่มที่ 2 อาชีพอิสระ หาบเร่แผงลอย SME รายย่อย
กลุ่มที่ 3 ที่มีความน่าเป็นห่วงคือกลุ่มเปราะบาง
สำหรับการปรับตัวขององค์กร องค์กรส่วนใหญ่มีความต้องการลดขนาด มีการทำงาน work from home มากขึ้น การประชุมสัมมนาปรับตัวเป็นออนไลน์ รวมถึงการเรียนต่างๆ ส่วนห้างสรรพสินค้าจะลดพื้นที่
สิ่งที่อยากจะให้เพิ่มในเรื่องของเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน และภาคโลจิสติกส์ การจับมือร่วมทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งแนวทางการแก้ไขภาพรวม การบริโภคภายในประเทศจะส่งเสริมการกำหนดมาตรฐานอาหารที่ปลอดภัยขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยี การขายของรายย่อย การช่วยให้เข้าถึงสินค้า เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภค ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน โอทอป ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งหลังโควิด-19 ประเทศไทยจะได้เปรียบ โดย จ.ภูเก็ตจะเป็นจังหวัดนำร่องทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในรูปแบบการท่องเที่ยวต้องการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ เช่น สปากิจกรรมในลักษณะสอนหนังสือ ช่วยเหลือชุมชน การทดลองทำการเกษตร การส่งเสริมต้องมีการเข้าใจพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนในประเทศไทย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยผลักดันในการสร้างแพลตฟอร์ม การบูรณาการข้อมูล บิ๊กดาต้า ทั้งทางภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น Human Resources ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดการตอบโจทย์เดินไปข้างหน้าการก้าวต่อไปได้ในอนาคต
"คิด" - Google News
August 28, 2020 at 06:15AM
https://ift.tt/32yrnrb
“คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ประเดิมเวทีแรกหาดใหญ่หาแนวทางนำปท.ผ่านวิกฤตและพัฒนาอย่างยั่งยืน - สำนักข่าว ไอเอ็นเอ็น
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog
No comments:
Post a Comment