Pages

Tuesday, July 28, 2020

คิดอะไร!? “ปิยบุตร” รำลึกโค่นกษัตริย์ฝรั่งเศส “คำผกา” เหน็บโหนลิเบอรัล “จอม” หยามถึงอสุจิไทย - ผู้จัดการออนไลน์

apapikirnya.blogspot.com

ภาพ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากแฟ้ม
“ปิยบุตร” คิดดัง รำลึก 3 วันยิ่งใหญ่ เปลี่ยนระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ “คำผกา” เหน็บพวก โหนม็อบมุ้งมิ้ง “ลิเบอรัล” ทีกับเสื้อแดงอยู่ในรู “จอม” เสี้ยมแรง “ผู้ใหญ่” ทำเด็กไทยไร้อนาคต แม้แต่ “อสุจิ”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(28 ก.ค.63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์หัวข้อ [27-29 กรกฎาคม 1830 : 3 วันอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการลุกขึ้นสู้โค่นล้ม Charles X เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ]

โดยระบุว่า “ภาพเขียนที่คนรู้จักกันมากและถูกนำมาเผยแพร่ ดัดแปลง ประยุกต์ใช้กับการต่อสู้ทางการเมืองมากที่สุดภาพหนึ่ง คือ ภาพ La Liberté guidant le peuple ซึ่ง Eugène Delacroix วาดขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ปฏิวัติ 3 วันอันรุ่งโรจน์ในเดือนกรกฎาคม 1830

การปฏิวัติ 27-29 กรกฎาคม 1830 คือ การผนึกกำลังระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐนิยม ฝ่ายกษัตริย์นิยมสายเสรีนิยม-ปฏิรูป ฝ่ายกระฎุมพี ฝ่ายชนชั้นล่าง กรรมกร ฝ่ายปัญญาชน เพื่อโค่นล้มกษัตริย์ Charles X ที่มีแนวนโยบายนำพาฝรั่งเศสกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน 1789 ภายใต้การสนับสนุนของปีก Ultra-Royalist

16 กันยายน 1824 หลุยส์ที่ 18 เสียชีวิต กลุ่ม Ultra-royaliste ได้ผลักดันน้องชายของหลุยส์ที่ 18 ขึ้นครองราชย์แทนในนามชาร์ลส์ที่ 10 กลุ่ม Ultra-royaliste และชาร์ลส์ที่ 10 ร่วมมือกันสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเก่าด้วยการรื้อฟื้นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ก่อนปฏิวัติ 1789 กลับมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพิธีราชาภิเษก การก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งโดนคณะปฏิวัติประหารด้วยเครื่องกีโยติน การออกกฎหมายชดเชยค่าเสียหายให้แก่เจ้าและขุนนางที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ซึ่งคำนวณกันว่าต้องใช้งบประมาณถึง 630 ล้านฟรังค์ ตลอดจนการออกกฎหมายกำหนดโทษแก่ผู้หลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ที่ขโมยหรือทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมีโทษถึงประหารชีวิต

นอกจากนี้ยังเพิ่มความเข้มงวดการเซ็นเซอร์สื่อและการจำกัดเสรีภาพการพิมพ์อีกด้วย

ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจบีบบังคับให้ชาร์ลส์ที่ 10 ต้องยุบสภา ผลการเลือกตั้งทำให้ได้สภาที่มีสมาชิกสายปฏิรูปมากขึ้น ชาร์ลส์ที่ 10 จึงจำใจต้องตั้ง Martignac นักการเมืองนิยมเจ้าสายปฏิรูปเป็นนายกรัฐมนตรี การดำเนินนโยบายของรัฐบาลไม่เป็นที่สบอารมณ์ของชาร์ลส์ที่ 10 และกลุ่ม Ultra-royaliste ที่เห็นว่ารัฐบาลโน้มเอียงไปทางเสรีนิยม ในขณะที่กลุ่มเสรีนิยมก็มองว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายปฏิรูปแบบกระมิดกระเมี้ยน

ในที่สุด Martignac จึงลาออกจากตำแหน่ง ชาร์ลส์ที่ 10 ตัดสินใจตั้ง Prince de Polignac นักการเมืองกลุ่ม Ultra-royaliste ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

สมาชิกสภาประท้วงและไม่พอใจกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 10 เพราะ พระองค์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามอำเภอใจ โดยไม่ให้สมาชิกสภาลงมติให้ความเห็นชอบเสียก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล

Prince de Polignac บริหารประเทศด้วยนโยบายแข็งกร้าวตามบัญชาของชาร์ลส์ที่ 10 ทำให้สมาชิกสภาและประชาชนต่อต้านจำนวนมาก ในท้ายที่สุดชาร์ลส์ที่ 10 จึงตัดสินใจยุบสภาเพื่อผ่าทางตัน

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ฝ่ายค้านได้สมาชิกสภาเพิ่มเป็น 270 ที่นั่ง จากเดิม 221 ที่นั่ง ในขณะที่รัฐบาลเก่าได้เสียงลดลงเหลือ 145 ที่นั่ง จากเดิม 181 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งเช่นนี้ คือ การแสดงออกถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของชาร์ลส์ที่ 10 อย่างชัดเจน แต่แทนที่ชาร์ลส์ที่ 10 จะโอนอ่อนหรือประนีประนอมตามเสียงของประชาชน กลับกลายเป็นว่า พระองค์ตัดสินใจเปิดหน้าสู้กับประชาชน ด้วยการออกประกาศพระบรมราชโองการ Saint-Cloud รวม 4 ฉบับในวันที่ 25 กรกฎาคม 1830 ได้แก่ ประกาศยุบสภา (ห่างจากยุบสภาครั้งก่อนเพียง 70 วันและหลังเลือกตั้งไม่ถึงเดือน)

ประกาศยกเลิกเสรีภาพการพิมพ์ ประกาศจำกัดผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เฉพาะคนที่เสียภาษีเกิน 300 ฟรังค์ ประมาณการกันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 25,000 คน ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายน 1830

กล่าวกันว่า ประกาศทั้ง 4 ฉบับเสมือนเป็นการรัฐประหารโดยชาร์ลส์ที่ 10 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนจำนวนมาก

ภาพ จากเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
ในที่สุดนักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน กรรมกร ชนชั้นกระฎุมพี ฝ่ายสาธารณรัฐนิยม ฝ่ายกษัตริย์นิยมสายปฏิรูป จึงรวมตัวกันโค่นล้มชาร์ลส์ที่ 10 โดยใช้เวลาเพียง 3 วันตั้งแต่ 27 – 29 กรกฎาคม 1830

ชาร์ลส์ที่ 10 และครอบครัวลี้ภัยไปประเทศอังกฤษ เกิดข้อถกเถียงกันว่า ฝรั่งเศสจะยังคงมีกษัตริย์ต่อไปหรือเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง ในท้ายที่สุด นักการเมืองปีกเสรีนิยม นำโดย Adolphe Thiers, François Guizot, Talleyrand, Lafayette รีบเข้าช่วงชิงการนำจากฝ่ายสาธารณรัฐนิยม พวกเขาสนับสนุนให้มีกษัตริย์ต่อไป เพราะเกรงว่าหากก่อตั้งสาธารณรัฐขึ้นมาทันที อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรง และกลายพันธุ์เป็นเผด็จการอำนาจนิยมเหมือนสมัย Bonaparte ได้ รวมทั้งอาจถูกประเทศมหาอำนาจอื่นในยุโรปที่ยังมีกษัตริย์อยู่เข้าโจมตีได้อีก

ฝ่ายกระฎุมพีเสรีนิยมมองว่า ฝรั่งเศสต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญให้ได้ จึงตัดสินใจเชิญเจ้าสายราชวงศ์ออร์เลอองอย่างหลุยส์ ฟิลิปป์ขึ้นเป็นกษัตริย์ พร้อมกับออก Charte ลงวันที่ 14 สิงหาคม 1830 ใช้เป็นรัฐธรรมนูญแทน

เราเรียกระบอบนี้ว่า “Monarchie de Juillet” เพราะเหตุการณ์ที่ประชาชนร่วมกันขับไล่ชาร์ลส์ที่ 10 เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม (Juillet)

โดย Thiers ยืนยันลักษณะกษัตริย์ของระบอบใหม่นี้ด้วยประโยคที่นิยมใช้แพร่หลายกันจนถึงทุกวันนี้ว่า
"กษัตริย์ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง" หรือ "กษัตริย์ครองราชย์ แต่ไม่ครองรัฐ"

ภาพ น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำผกา จากแฟ้ม
ขณะที่ น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือ "คำผกา" สมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มแคร์ โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ Kam Phaka @kamphaka ว่า

“มีความกระอักกระอ่วนต่อความเห็นของปัญญาชนสาธารณะ นักคิด นักเขียน ที่ตอนนี้ ออกมา ‘ฉลาด’ และ ‘ลิเบอรัล’ ร่วมกับเด็กๆ แบ่บ ก้าวหน้าเหลือเกิน รู้จักทุกแนวคิดปรัชญาสมัยใหม่ ทีตอนเสื้อแดงออกมาเรียกร้องสิ่งเดียวกันนั่นแหละคือ ปชต. คนพวกนี้มุดหัวในรู - เงียบกริ๊บ ใบหน้าร้องไห้.”

ภาพ จากเฟซบุ๊ก Jom Petchpradab ของ นายจอม เพชรประดับ
ด้าน เฟซบุ๊ก Jom Petchpradab ของ นายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา ก็โหนม็อบมุ้งมิ้งไม่เบาเช่นกัน โพสต์ข้อความระบุว่า

“ผู้ปกครองนร.“ไม่ทน” ตอกกลับผู้ใหญ่ หัวขาว หัวเทา ที่คุกคามเด็ก ถามกลับว่า ตอบตัวเองได้มั้ยละว่าที่บ้านเมืองตกต่ำที่สุดอยู่ตอนนี้เป็นเพราะใคร..?

เด็ก ๆ เยาวชนไทยส่วนมาก ถูกบังคับถูกสอน ไม่ให้สนใจการเมือง บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ หน้าที่เด็กเยาวชนคือเรียนหนังสือ จบแล้วจะได้มีงานทำ มีอนาคตที่ดี ปล่อยให้ผู้ใหญ่ดูแลบริหารการเมือง บริหารประเทศไป

แล้วเป็นไงละ ตอนนี้บ้านเมืองมีอนาคตหรือไม่ ..บ้านเมือง ล้มเหลวตกต่ำ เกือบทุกด้าน
แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ยังไม่สำนึกยังออกมามาข่มขู่ คุกคาม กดขี่ดูถูก ริดรอนสิทธิเด็กเยาวชนที่จะออกมากอบกู้สร้างอนาคตของตัวเอง จากผลงานที่โคตรห่วยของผู้ใหญ่

"อย่าว่าแต่เด็กเยาวชนไทยที่เกิดออกมาดูโลกแล้วตอนนี้เลย แม้แต่ อสุจิไทย ที่กำลังจะออกมา ก็ยังไม่มีอนาคตเลย" ผู้ปกครองนักเรียนที่สนับสนุนให้ลูกออกมาชุมนุมขับไล่ เผด็จการประยุทธ์ ..กล่าว”...

แน่นอน, โพสต์และทวิตเตอร์ที่หยิบยกมา เหมือนต่างคนต่างวาระในการแสดงความคิดเห็น แต่ที่มีจุดเริ่มกันอยู่อย่างก็คือ ภาพสะท้อนต่อสถานการณ์ทางการเมือง ที่กำลังมีการเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชนนักศึกษา ที่เรียกว่า “ม็อบปลดแอก”

และสิ่งที่เกิดขึ้นในม็อบ 3 อย่างที่เห็นได้ชัดคือ 1.มีการแสดงออกถึงความเป็น ‘ลิเบอรัล’ หรือ หัวก้าวหน้า เสรีประชาธิปไตย อะไรทำนองนั้น ซึ่งก็มีคำถามมากมายว่า ‘ลิเบอรัล’ แท้ หรือ เทียม กรณีที่พบการใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางที่ผิด ระรานไม่เลือก

2. ภายในม็อบมีป้ายหมิ่นสถาบัน หรือ มีพวกต้องการ “ล้มเจ้า” รวมอยู่ด้วย ไม่แน่ว่าอยู่เบื้องหลัง หรือแอบแฝง?

3. ถูกยกให้เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ ของประดานักฉวยโอกาสทางการเมือง คนที่อิงแอบอยู่เบื้องหลัง เพราะเชื่อว่า พลังบริสุทธิ์ของ นักเรียน นิสิตนักศึกษา คือ พลังที่ต่อกรกับอำนาจเผด็จการได้ดีกว่าทุกพลัง เนื่องเพราะมีความเปราะบาง และอ่อนไหว ในสายตาของสาธารณชน และประชาชนไทย ทำให้ผู้มีอำนาจไม่กล้าใช้ความรุนแรงขั้นเด็ดขาดเข้าไปจัดการ ซึ่งอาจเกิดกรณี “น้ำผึ้งหยดเดียว” ได้ง่าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ โพสต์ทั้งหมด ล้วนมีความสัมพันธ์กับม็อบปลดแอกไม่มากก็น้อย ส่วนจะมีใครเข้าใจอะไรได้ลึกซึ้งมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เอาไปจับเท่านั้นเอง

Let's block ads! (Why?)



"คิด" - Google News
July 28, 2020 at 03:57AM
https://ift.tt/2X12Qcg

คิดอะไร!? “ปิยบุตร” รำลึกโค่นกษัตริย์ฝรั่งเศส “คำผกา” เหน็บโหนลิเบอรัล “จอม” หยามถึงอสุจิไทย - ผู้จัดการออนไลน์
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog

No comments:

Post a Comment