Pages

Wednesday, July 8, 2020

ส่งเสริม 'เด็ก' กล้าคิดกล้าทำ หยุดการละเมิดสิทธิเด็ก - เดลีนีวส์

apapikirnya.blogspot.com

ในยุคหลังๆ มานี้ เด็กรุ่นใหม่ๆ เริ่มมีความคิดและสนใจสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น มันก็เป็นไปตามแนวคิดสมัยใหม่ที่คนรุ่นใหม่เองก็เริ่มจะตั้งคำถามกับ “คุณค่าเก่า” ที่เรายึดถือกันมาว่า มันถูกต้อง เหมาะสม ยุติธรรมดีแค่ไหน ถ้าพบว่ามันคือ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” (คือการละเมิดสิทธิ์โดยที่เราถูกทำให้เชื่อเองว่ามันเป็นความจริงหรือความถูกต้อง) ก็จะลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสังคมและเรียกร้องให้ทบทวน

ยิ่งในยุคอินเทอร์เนต การกดแชร์ หรือการติดแฮชแทคแค่แป๊บเดียว ก็ทำให้มีคนที่มีแนวคิดเดียวกันเข้ามาสนับสนุน หรืออภิปราย กระทั่งโต้แย้งให้ประเด็นที่ถูกพูดถึงมีความคิดหลายมิติแง่มุมมากขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องดีในการฝึกการคิดวิเคราะห์และการใช้เหตุผล แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขความเป็นประชาธิปไตยที่รับฟังและเคารพเสียงส่วนใหญ่ด้วย ไม่ใช่ใครจุดประเด็นขึ้นมา พอชาวบ้านไม่เห็นด้วยก็ตะแบงจะเอาชนะ

เด็กรุ่นใหม่ๆ ใช้อินเทอร์เนตเยอะขึ้น และมีโอกาสแสดงความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้น ถ้าฝึกการใช้เหตุผลที่ดี ฝึกการหาหลักฐานอื่นมาประกอบการใช้เหตุผลของตัวเองว่ามันถูกต้อง  มันจะกลายเป็นการสร้างฐานเยาวชนที่จะโตไปในอนาคตได้อย่างมีคุณค่า กระบวนการศึกษาก็สอนให้เด็กคิดเป็นมากกว่าที่จะต้องมานั่งท่องจำ แม้กระทั่งเนื้อหาที่ยังมีการท่องจำอย่างวิชาประวัติศาสตร์ เด็กก็สามารถวิเคราะห์ หาหลักฐานอื่นนอกจากตำราเรียนได้

สำคัญคือบุคลากรในแวดวงการศึกษา ที่จะต้องมีการปรับตัวทันสมัย ต้องไม่ใช่ครูประเภทหัวโบราณชนิดที่ถ้าเถียงสู้เด็กไม่ได้ใช้วิธีหักคะแนนสอบแก้แค้น หรือบันทึกความประพฤติไม่เรียบร้อย ตรงนี้กระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่เพียงแค่สร้างหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับเด็ก แต่ต้องสร้างครูที่สอนให้เด็กคิดใจกว้าง โดยเฉพาะครูรุ่นเก่าๆ นี่ควรจับมาอบรมกันว่าไม่ใช่กางตำราสอนอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจเด็ก ส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงความเห็นมากขึ้น

เราจะเห็นได้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมเริ่มแสดงความเป็น “ขบถ” (คือการพยายามขับเคลื่อนเรื่องสิทธิ เรื่องสังคมให้ไปในแนวทางที่ดีกว่า ไม่ใช่กบฏ) ต่อชุดความคิดเก่าๆ เช่นการใช้อำนาจครูหรือวินัยในการควบคุม ซึ่งทำให้เด็กกลัวและต่อไปจะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงความเห็น ไม่มีไอเดียสร้างสรรค์ อย่างเรื่องที่พูดกันมากคือเรื่องชุดนักเรียน ที่ก็เริ่มมีความเห็นต่างว่า มันยังจำเป็นหรือไม่ที่แต่ละโรงเรียนต้องมี

สายธำรงวินัยดั้งเดิมเขาก็ยังมองว่า ชุดนักเรียนเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อความเป็นระเบียบของโรงเรียน และเป็นชุดมาตรฐานเดียวที่ไม่ต้องทำให้เด็กสนใจเรื่องการแต่งตัวสวยงามมาอวดมาโชว์กัน แต่สายที่ไม่เห็นด้วยเขาก็บอกว่าเป็นการประเมินที่แคบไปว่าเด็กจะไม่รู้หน้าที่ในการมาเรียน เป็นภาระผู้ปกครองที่ต้องซื้อใหม่บ่อยเพราะเด็กบางคนก็โตไว ซึ่งถ้ายังถกกันไม่จบก็น่าจะมีการทดลองทำโรงเรียนนำร่อง ดูว่าไม่ใช้ชุดนักเรียนมีผลอะไรบ้าง

อีกเรื่องหนึ่งที่ดราม่ากันไม่จบสิ้นคือเรื่องทรงผมเด็ก ซึ่งไม่รู้ว่าบางโรงเรียนจะเอาเป็นเอาตายอะไรกันเยอะนัก ต้องมานั่งไล่ตัดให้มันแหว่งให้เด็กอับอาย บางทีครูฝ่ายปกครองก็ตัดสั้นเสียจนเด็กไม่รู้จะแก้ผมยังไง ตัดเหมือนโกรธแค้นอะไรมาแล้วมาลงกับหัวเด็ก หรือคิดว่าทำแล้วเป็นความสนุกในการแสดงอำนาจ แต่ที่ไม่ขำด้วยคือเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิในร่างกาย ที่มีคนมาทำอะไรร่างกายเราโดยไม่ยินยอม ถูกทำให้อับอาย

ล่าสุดมีกรณีที่เป็นข่าว ซึ่งก็น่าเล่นเป็นข่าวเพราะมันสะท้อนถึงการใช้อำนาจโดยไม่เคารพสิทธิเด็ก คือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ศรีสะเกษ ครูฝ่ายปกครองตัดผมเด็กเสียแหว่ไปข้าง ทั้งๆ ที่กฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องทรงผมมันประกาศในราชกิจจานุเบกษาใหม่ไปแล้วเมื่อเดือน พ.ค.63 เด็กหญิงไว้ผมยาวได้แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้โดย ผอ.โรงเรียนอ้างว่าไม่รู้เนื่องจากไม่มีคำสั่งมาที่โรงเรียน

การลงโทษเด็กให้กลัวหรือให้อับอายมันทำไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนนักศึกษา พ.ศ.2548 ทำได้ 4 สถานคือ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3. ตัดคะแนนความประพฤติ 4. ทำกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม แถมยังดูเหมือนจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 ที่ห้ามมิให้ (1) กระทำการอันละเว้นหรือกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก การตัดผมเด็กให้เสียความมั่นใจคือการทำอันตรายต่อจิตใจ

จากข่าว พบว่าสิ่งที่น่าผิดหวังคือนางกัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน จ.ศรีสะเกษ ออกมาแสดงท่าทีเรื่องนี้แล้วพูดง่าย “ไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก อยากให้แม่และเด็กทำเหมือนไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเพิ่งเปิดเรียน อยากให้เรื่องเงียบเร็วที่สุดจะได้เรียนกันอย่างมีความสุข” และไฮไลท์ของสิ่งที่นางกัลยาณีพูดคือ “อยากให้โรงเรียนอภัยเด็กด้วย เพราะเด็กอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งไม่รู้พูดออกมาได้อย่างไร

เพราะโดยตัวตำแหน่ง “ประธานกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน” สิ่งที่ควรสนใจคือการพิทักษ์สิทธิของเด็ก ไม่ใช่การขอให้เด็กเงียบ เรื่องเงียบ ตัดจบปัญหากันดื้อๆ แล้วต่อไปถ้าเกิดการละเมิดลักษณะนี้ขึ้นอีกเด็กจะไม่มีสิทธิ์ในการเรียกร้องอะไรเลยเช่นนั้นหรือ ? ความเห็นเช่นนี้มันแปลว่า “ผู้ใหญ่เองก็ยังไม่เข้าใจและเคารพสิทธิ์เด็ก” ใช่หรือไม่ ในทางกลับกันถ้าบังคับครูห้ามแต่งหน้าทำผม บังคับความยาวผมครูเพื่อเป็นต้นแบบทางวินัยบ้าง จะเอากันไหม ?

ประเด็นเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนช่วงเปิดเรียนไม่ได้จบแค่เรื่องยุ่งกับหัวเด็ก แต่ยังมีบางโรงเรียนที่ยังระบุว่า “เด็กที่แสดงออกอย่างไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ก็ถือเป็นกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงที่โรงเรียนต้องจับตา ซึ่งมันก็คือการไม่เคารพอัตลักษณ์ การเป็นเพศไหนก็ตามเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเป็นอัตลักษณ์ที่ไปบังคับเขาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างเรื่องความเชื่อทางศาสนา อุดมการณ์การเมือง เรายังเรียกร้องให้เคารพกัน นี่คือระดับชั้นตัวตนแท้ๆ ทำไมถึงไม่เคารพ

การบีบบังคับด้วยวิธีต่างๆ ให้เด็กต้องไม่เป็นตัวของตัวเอง มันเป็นตัวบ่อนทำลายการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ เด็กคนหนึ่งที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ ถ้าถูกมองข้ามเรื่องเพศวิถีไป ครูส่งเสริมเขาในแนวทางที่เขาถนัดและชอบ เขาก็จะไปได้ไกล ตัวอย่างเด็ก LGBT ที่สร้างชื่อได้เพราะเขายอมรับตัวตนก็มี อย่างเด็กที่ชื่อ “ม๊าเดี่ยว อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ” ก็กลายเป็นดีไซเนอร์รุ่นเล็กที่มีผลงานแสดงโชว์ของตัวเอง มีคอลเลคชั่นเสื้อผ้าเป็นอัตลักษณ์เป็นที่น่าภูมิใจ

บางทีก็น่าคิดว่า ระบบอาวุโสในบ้านเราไม่ได้สอนให้เด็กคิดเป็น พอระบบนี้ไปกดทับเด็กมากๆ เข้า เด็กถูกสั่งอย่างเดียว แทนที่จะได้อภิปรายพูดคุยกันด้วยเหตุผล กลายเป็นการถกกันด้วยอารมณ์ ต้องการเอาชนะและกลายเป็นความก้าวร้าว หนักเข้ากลายเป็นแยกขั้วเสรีนิยมกับขั้วอนุรักษ์นิยมที่คุยกันไม่รู้เรื่อง กระทรวงศึกษาธิการรุ่นใหม่ต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์การทำงาน รื้อ ล้าง ระเบียบหรือวิธีคิดโบราณๆ สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยมากขึ้

การเปิดใจกว้างเป็นก้าวแรกที่สำคัญต่อการสร้างสังคมที่พัฒนา และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข.

..............................................
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Apichet Madaew Atilattana

Let's block ads! (Why?)



"คิด" - Google News
July 08, 2020 at 10:00PM
https://ift.tt/3fpRUMR

ส่งเสริม 'เด็ก' กล้าคิดกล้าทำ หยุดการละเมิดสิทธิเด็ก - เดลีนีวส์
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog

No comments:

Post a Comment