Pages

Monday, July 13, 2020

ปม! ทนายสายดำตระบัดสินคิดโกง - ไทยรัฐ

apapikirnya.blogspot.com

แม้แต่ ป.วิ.อาญา มาตรา 7 ทวิ (1) บัญญัติว่า...ผู้ต้องหามีสิทธิพบและ ปรึกษาทนายความ จึงแปลได้ว่า ผู้ถูกควบคุมมีสิทธิพบและปรึกษาทนายความได้ในชั่วโมงแรกของการควบคุมตัว ในคดีอาญา เริ่มตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณา จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดี

ทว่า...ในสังคมก็เหมือน “เหรียญที่มีสองด้าน” เช่นเดียวกับ “สังคมทนายความ” ก็มีทั้ง “สายขาวและสายดำ” ในส่วน “สายขาว” ต่างทำหน้าที่ใช้กฎหมายเป็นตัวแทนผู้มีอรรถคดี ไม่ว่าจะเป็นทนายความจำเลย หรือทนายความโจทก์ คอยทำหน้าที่ร่วมกับพนักงานสอบสวน ศาล อัยการ

เพื่อช่วยในการผดุงความเป็นธรรมให้ “คดีความ” เป็นไปอย่าง “ยุติธรรม” มากที่สุด

แต่ก็มีส่วนเล็กๆที่ถูกกล่าวอ้างว่า...“เป็นสายดำ หรือคนขาดจริยธรรม” ใช้ตำแหน่งหน้าที่การเป็น “ทนายความ” ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ที่เป็นต้นทางของการทุจริต ยักยอกเงิน หรือการเอาเงินลูกความไปใช้โดยมิชอบ...

โดยเฉพาะเรื่องการ “แอบอ้างวิ่งเต้นคดี” ในการทำให้เกิดช่องทางของการหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนผู้เดือดร้อนทางคดีที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

จนมีการตั้งคำถามว่า...“ทนายความ” คือ ผู้ให้ความช่วยเหลือคนทำผิด ให้หลุดพ้นจากความรับผิด หรือเป็นผู้ใช้ช่องว่างกฎหมาย ทำให้ผิดเป็นถูก และทำถูกให้เป็นผิด จากการหวังประโยชน์สินจ้างจริงหรือไม่...?

เรื่องมีคำตอบในการปฏิบัติหน้าที่อาชีพทนายความ ทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความฯ บอกว่า “ทนายความ” คือบุคคลมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับกฎหมาย ที่ทำหน้าที่แทน “ตัวความ” หรือ “ลูกความ” ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ในกระบวนการพิจารณาต่างๆ ทั้ง “คดีแพ่ง” และ “คดีอาญา”

ตั้งแต่เริ่มต้นคดี...จนถึงการนำเสนอพยานหลักฐานขึ้นสู่ “ชั้นศาล” หรือการยื่นคำฟ้อง คำร้อง และคำแถลงต่างๆ รวมไปถึงการซักถาม ถามค้าน ของคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายที่อ้างพยานนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของลูกความให้ดีที่สุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้...

แต่ด้วย...“ทนายความ” ไม่ใช่ข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับเงินเดือนประจำ ดังนั้น การทำหน้าที่แทนตัวความนี้จำเป็นต้องมีการว่าจ้างกันขึ้น ซึ่งเป็นสิทธิของทนายความเองด้วยว่า...จะรับว่าความหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นข้อสัญญาจ้างตาม ป.แพ่ง ม.587 เมื่อมีเจตนาตรงกันนิติกรรมสัญญาย่อมเกิดขึ้นได้...

แม้ในคดีอาญา...เช่น คดียาเสพติด ข่มขืน หรือคดีฆาตกรรมโหดเหี้ยมสะเทือนขวัญ ก็เป็นอิสระในการรับจ้าง “ว่าความ” เมื่อรับแล้วก็ย่อมรักษาผลประโยชน์ของคู่ความอย่างเต็มที่

กลายเป็นข้อสงสัย...ในการทำหน้าที่ของทนายความที่รับว่าความคดีลักษณะเช่นนี้

และมีข่าวลือด้วยซ้ำว่า...“ทนายความ” รับว่าความในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด อาจต้องถูกจับจ้องของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องสงสัยเข้าไปอยู่ในขบวนการหรือไม่ แต่ก็ยังไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นจริงแน่ชัด...

เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า...“คดีอาญา” บางคดียังไม่มีข้อยุติ หรือพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำความผิด แต่กระแสโซเซียลฯ กลับปลุกปั่นประโคมเหตุการณ์เกินกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ “ผู้ตกเป็นผู้ต้องหา” ต้องถูก “ตีตรา” เป็นผู้มีพฤติกรรมโหดร้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

เพราะตามกฎหมายการที่จะฟังได้ว่า “จำเลยกระทำผิด” ได้นั้นก็ต้องได้รับการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่ากระทำผิดจริง

อีกทั้ง “ผู้ต้องหาบางคน” อาจไม่ได้กระทำความผิดก็ได้ เพราะข้อ เท็จจริงยังไม่ได้พิสูจน์ ดังนั้น “ทนายความ” ต้องทำหน้าที่รักษาความยุติธรรม ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ทำความจริงให้ปรากฏตามข้อเท็จจริง เพื่อ “ศาล” จะได้ใช้ดุลพินิจลงโทษ “คนทำผิด” ให้เหมาะสมกับการกระทำความผิดที่ได้ก่อขึ้นนั้น

“มีบางกรณี...ที่ตกเป็นข่าวในสังคม แต่สุดท้าย “ศาล” มีคำพิพากษายกฟ้องคดี เพราะจำเลยไม่ได้กระทำความผิดจริง การทำหน้าที่ของ “ทนายความอาชีพ” ต่างมีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ การปกป้องสิทธิลูกความ และการใช้สิทธิต่อสู้คดีตามกฎหมายกำหนดไว้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด” ทัศไนยว่า

ตามหลักแล้ว...“ทนายความอาชีพ” ต่างมีความมุ่งหวังให้ความเป็น “ธรรมต่อตัวลูกความ” มากกว่าผลการเอาชนะคดี เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็จะเป็นเครื่องบ่งบอกถึง “ความถูกต้องนั้น”

นั่นคือ “ความยุติธรรม” ที่ต่างฝ่ายต่างได้รับจากการเสนอข้อเท็จจริงสู่กระบวนการยุติธรรม

ในช่วงที่ผ่านมา...“การทำหน้าที่ของทนายความ” ก็มีประชาชนร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับมรรยาททนายความ เพื่อให้มีการตรวจสอบอยู่ตลอด ความผิดมรรยาทนี้ที่ถูกร้องเรียน ก็มีตั้งแต่กระทำการอันเป็นการยุยง ส่งเสริมให้เป็นคดีความ แม้บางคดีจะสามารถพอที่จะพูดคุยตกลงกันได้ ก็แนะนำให้มีการฟ้องร้องกันขึ้น

โดยเฉพาะในเรื่องของ “คดีไม่มีทางชนะ” กลับบอกตัวลูกความสามารถทำให้คดีชนะแน่นนอน มีการอวดอ้างว่า ตัวเองเก่งกาจมีความสามารถกว่าทนายความคนอื่นในการว่าความ หรือการทำคดี หรืออ้างว่ารู้จักกับตำรวจ อัยการ ศาล ที่รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ สามารถวิ่งเต้นให้เปลี่ยนแปลงผลของคดีได้

และอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นให้ไม่ฟ้องคดี เปลี่ยนข้อหาทางคดีให้หนัก หรือเบาได้ โดยมีการเรียกค่าใช้จ่าย ที่เรียกว่า “ตระบัดสิน” คือ การกระทำ ฉ้อโกง ยักยอกเงิน หรือการทุจริตในการเอาเงินลูกความไปโดยมิชอบ ลักษณะนี้เป็นการกระทำบ่งบอกขาดจริยธรรม เพราะมุ่งหวังเอาประโยชน์จากความเดือดร้อนของบุคคลผู้มีอรรถคดี

มีข้อสังเกตจาก “การว่าจ้างทนายความ” มักมี “เรตราคา” ตามความเหมาะสมกันอยู่แล้ว ถ้า “การว่าจ้าง” มีอัตราสูงมากผิดปกติ ก็อาจสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องเรียนได้ว่ามีการเรียกรับเพื่อวิ่งเต้นคดี ทำให้คณะกรรมการมรรยาทฯ เข้าดำเนินการตรวจสอบโดยไม่ต้องมีคนร้องเรียนก็ได้ เพราะเป็นความผิดร้ายแรง

หากมีความผิดจริง...ก็จะมีบทลงโทษสูงสุด คือ การลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

ประเด็นสำคัญ...“ตระบัดสิน” ไม่ใช่มีบทลงโทษเฉพาะ “ลบชื่อ” ออกจากสารบบทะเบียนเท่านั้น แต่ยังอาจจะมีความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับฐานความผิด “ฉ้อโกง หรือยักยอกเงิน” ด้วย โดยบุคคลผู้ที่ส่งมอบทรัพย์ให้ในการกล่าวอ้าง “วิ่งเต้น” ย่อมเป็นผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีกับ “ทนายความคนนั้น” ตามกฎหมายได้

อย่างไรก็ตาม... “ทุกสังคม” ก็มีคนประพฤติไม่อยู่ในทำนองคลองธรรมอยู่เสมอ เช่นเดียวกับ “สังคมทนายความ” ที่มีสมาชิกราว 8 หมื่นคนทั่วประเทศ ที่ต้องผ่านการสอบภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการอบรมจริยธรรมและมรรยาททนายความ แต่มีคนกลุ่มน้อย...ไม่ปฏิบัติตามมรรยาททนายความ ถูกตรวจสอบลงโทษกันอยู่

แต่เชื่อว่า...“ทนายความ” รู้หลักการทำหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมายดีอยู่แล้ว เพราะมิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเอง ต้องกลายเป็นผู้กระทำความผิดเสียเองด้วยซ้ำ ส่วน “ประชาชน” ถ้ามีความรู้สึกเกิดข้อพิพาทกับ “ทนายความ” เห็นว่า “ถูกละเมิดสิทธิ” สามารถร้องมายังสภาทนายความฯ ได้ตลอดเวลา

จึงขอสรุปเรื่องนี้ว่า...“ทนายขาว หรือทนายดำนั้น” เชื่อว่า... “ไม่มีมูลอยู่จริง” แต่เท่าที่เห็น...ทุกคนยืนหยัดทำหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ทุกประการ.

Let's block ads! (Why?)



"คิด" - Google News
July 13, 2020 at 03:01PM
https://ift.tt/2OiKFKu

ปม! ทนายสายดำตระบัดสินคิดโกง - ไทยรัฐ
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog

No comments:

Post a Comment