มารีญา พูลเลิศลาภ หรือ มาเรีย ลินน์ เอียเรียน เป็นที่รู้จักของสาธารณชนอย่างกว้างขวางในนามของมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2017 เธอออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาหลายครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวสำคัญทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
จากกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ที่ถูกอุ้มหายไปอย่างอุกอาจหน้าคอนโดฯ ที่พักอาศัยในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่เมื่อ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา แฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ถูกรีทวีตออกไปอย่างรวดเร็วเกิน 1 ล้านครั้งจนขึ้นอันดับ 1 ของประเทศ ความคิดเห็นกระแสหลักของผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทยเป็นไปในทิศทางไม่เห็นด้วยกับการลักพาตัววันเฉลิม เพราะไม่ควรมีใครต้องตายเพียงเพราะเห็นต่าง แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีความคืบหน้าว่าใครเป็นคนลักพาตัวนายวันเฉลิม หรือนายวันเฉลิมยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
หลังจากที่ชาวเน็ตออกมาเรียกร้องให้ดารา นักร้อง หรือผู้มีชื่อเสียงในสังคมไทย ออกมาร่วม #saveวันเฉลิม กลับกลายเป็นว่าความคิดเห็นแตกออกเป็นสองฝั่ง
-ฝั่งหนึ่งบอกว่า ดาราไม่จำเป็นต้องออกมาแสดงจุดยืนเพราะทุกคนมีสิทธิที่จะพูดหรือไม่พูดก็ได้
-แต่มารีญา เป็นหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมไทยที่ออกมาตั้งคำถามในประเด็นดังกล่าว
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่หวั่นต่อการรักษาภาพลักษณ์ด้าน "การวางตัวเป็นกลาง" เช่นเดียวกับที่หลายคนเลือกที่จะทำเมื่อถูกถามใน "ประเด็นอ่อนไหว"
มารีญาถาม "วันเฉลิมอยู่ที่ไหน"
มารีญา อดีตมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2017 โพสต์ข้อความ เมื่อ 8 มิ.ย.ในอินสตาแกรมส่วนตัวที่มีผู้ติดตามกว่า 578,000 คน แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้พร้อมกับติดแฮชแท็ก #SaveWanchalerm (#saveวันเฉลิม)
"นักกิจกรรมชาวไทยคนหนึ่งที่ลี้ภัยอยู่ในกัมพูชาหายตัวไป แต่จนถึงขณะนี้ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชายังไม่รู้เรื่อง ที่น่ากลัวก็คือมีผู้ลี้ภัยชาวไทยหลายคน 'หายตัวไป' และบางคนกลายเป็นศพที่ถูกยัดด้วยแท่งปูน... เราอยู่ในบ้านเมืองแบบไหนกันที่เราทำไม่ได้แม้แต่การแสดงความคิดเห็น ชีวิตมีความแตกต่างหลากหลาย ความคิดเห็นก็เช่นกัน"
มารีญาบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอรู้สึกหวาดกลัว
"ความหวาดกลัวนี่เองที่เป็นสิ่งที่ใครบางคนต้องการ และเท่าที่จำได้ มันเป็นสิ่งที่ครอบงำสังคมไทยมาโดยตลอด"
"ฉันเบื่อที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความกลัว พวกคุณไม่เบื่อกันบ้างหรือ"
อดีตนางงามที่มักแสดงความคิดเห็นว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกบอกว่าเธอรู้สึกทั้งหวั่นไหวและตื่นเต้นในเวลาเดียวกันที่ได้เห็นคนไทยออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น
"ความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึงแล้ว"
คำถามก็คือ "วันเฉลิมอยู่ที่ไหน?!" มารีญาพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ ตามด้วย #SaveWanchalerm หรือ #saveวันเฉลิม ก่อนจะทิ้งท้ายว่า เธออาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวันเฉลิม เพราะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบอกได้
"แต่ฉันอยู่ฝ่ายเดียวกับคนไทยที่ออกมาประกาศว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันผิด และพวกเราต้องการคำตอบ"
ช่วง "แฟลชม็อบ" มารีญา "ภูมิใจนักศึกษาไทย"
ก่อนหน้านี้ ช่วงที่นักเรียน-นักศึกษาออกมาชุมนุมจัด "แฟลชม็อบ" แสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมภายหลังประกาศคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อช่วงต้นปี มารีญาได้โพสต์ข้อความว่า "ภูมิใจนักศึกษาไทย" บนบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อ 28 ก.พ. จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผ่านทั้งสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ มียอดการรีทวีตมากกว่าหนึ่งแสนครั้ง
ในครั้งนั้น มารีญาให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า เธอภูมิใจที่นักเรียนนักศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองและมองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้สังคมรับรู้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะเปิดการสนทนา (dialogue) ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน (respect) และความรัก (love) กับสังคม โดยใช้ "แฟลชม็อบ" เธอตั้งคำถามว่า "เราจะเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร หากเราไม่ยอมรับฟังพวกเขา"
มารีญาบอกกับบีบีซีไทยว่า เธอเองก็มีความกังวลว่าจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคม เช่นเดียวกับที่เคยเกิดในบรรดานักแสดง หรือนักร้องเมื่ออกมาแสดงความเห็นในประเด็นการเมือง แต่อย่างไรก็ตามเธอได้คิดรอบคอบแล้วก่อนที่จะโพสต์ข้อความนั้น
"ขับเคลื่อนด้วยความรักมากกว่าความเกลียดชัง"
ไม่เพียงแต่ประเด็นในไทย เกิดประเด็นทางสังคมในต่างประเทศอย่างกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจใช้ความรุนแรงในระหว่างการจับกุมจนเขาเสียชีวิต จนก่อให้เกิดการประท้วงขยายวงกว้างไปหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ มารีญาก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน
- ผู้ลี้ภัยทางการเมือง : คนเห็นต่างหรือ พวกหนักแผ่นดิน
- จอร์จ ฟลอยด์ : ประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงของตำรวจในปัจจุบันอย่างไร
เธอโพสต์ข้อความว่า "เราต้องหยัดยืนเคียงข้างกัน ถ้าหากต้องการไปสู่โลกที่ขับเคลื่อนด้วยความรักมากกว่าความเกลียดชัง เราต้องยืนเคียงข้างกันถ้าหากเรายังอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม ท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน"
Social Movement
การแสดงจุดยืนในประเด็นทางสังคมและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของมารีญาเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมครั้งแรกบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 ที่เธอได้รับคำถามจากพิธีกร สตีฟ ฮาร์วีย์ ในรอบ 5 คนสุดท้ายว่า "คุณคิดว่าขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของคุณคืออะไร และเพราะอะไร"
มารีญาตอบว่า "เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยก็จริง แต่ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัย คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ พวกเขาคืออนาคต พวกเขาคือกลุ่มคนที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่คือคนที่ต้องดูแลโลกที่พวกเราอาศัยอยู่"
คำถามดังกล่าวและคำตอบของมารีญาได้สร้างกระแสร้อนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ของไทย ไม่ว่าจะในกลุ่มคนเชียร์นางงามหรือคนทั่วไป เกิดการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงนิยามของคำว่า Social Movement หรือขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์คำตอบของมารีญาอย่างเข้มข้น ทั้งในเชิงเห็นด้วยกับคำตอบ และในเชิงเห็นต่างว่าเธอตอบไม่ตรงคำถาม และไม่ได้เลือกการขับเคลื่อนทางสังคมที่เป็นประเด็นสำคัญที่แท้จริงในช่วงนั้นมาตอบ
ไม่ว่าคณะกรรมการและประชาชนจะพิจารณาว่าคำตอบของเธอในวันนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ คนรุ่นปัจจุบันหรือรุ่นต่อไปอาจมีโอกาสได้อยู่เห็นเป็นสักขีพยานว่า "ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง" ที่มารีญากล่าวถึงนั้นมาจากพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่จริงหรือไม่ ในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลนี้
"ผู้ใหญ่เตือนมา"
หนึ่งวันหลังออกมาโพสต์เรื่องการหายตัวไปของวันเฉลิม มารีญาเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในวันที่ 9 มิ.ย. ด้วยอาการลำไส้อักเสบ หลังรับประทานอาหารรสจัดมากเกินไป
ชนกสรวง พูลเลิศลาภ แม่ของมารีญากล่าวกับ ดาราเดลี่ ว่า การเข้าพักในโรงพยาบาลไม่เกี่ยวกับการโพสต์ของเธอ แต่เกิดจากเรื่องการทำงาน และการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา "ส้มตำ ตำซั่ว กินจนลำไส้แย่เลย" และนอนไม่พอ
ชนกสรวงบอกด้วยว่า หลังมารีญาแสดงความเห็นเรื่องการหายตัวของวันเฉลิม เธอได้รับการเตือนจากผู้ใหญ่ จนเกิดความเกรง
"มีผู้ใหญ่เตือนมา ทำให้เกิดการเกรง ๆ จะมีภัยหรือเปล่า ถ้ามีให้มันรู้ไป เรามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง เราไม่ได้ทำผิด เราทำเพื่อช่วยสังคม"
คุณแม่ของ มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2017 กล่าวเพิ่มเติมว่าลูกสาวมีจุดยืนเพื่อ "ช่วยโลก" และลดมลภาวะ ตั้งแต่เด็ก เธอช่วยแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะพลาสติก และเลือกใช้ถุงผ้ามาตลอด
"แม้มีเงินซื้อกระเป๋าแบรนด์ดัง ๆ แต่เลือกถือถุงผ้าจนขาด ปะแล้วใช้ต่อ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง"
"คิด" - Google News
June 09, 2020 at 05:08AM
https://ift.tt/2AgeLe8
มารีญา พูลเลิศลาภ : มองความคิดทางสังคม จาก Social Movement สู่ #saveวันเฉลิม - บีบีซีไทย
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog
No comments:
Post a Comment