3 มิถุนายน 2563
23
ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า “ฉากทัศน์” อนาคตเป็นประจำเกือบทุกวัน
เหตุผลสำคัญเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง มาตรการการควบคุมการระบาดของโรค การเว้นระยะห่างทางสังคม และการเปิด-ปิดเมืองและธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการหลายรูปแบบเพื่อรองรับภาพฉากทัศน์เหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ฉากทัศน์อนาคตที่ดีน่าจะหมายถึงฉากทัศน์ที่ประเทศสามารถควบคุมโรคระบาดได้และเศรษฐกิจฟื้นตัว ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทยอยกลับมาดำเนินชีวิตกันปกติหรือภายใต้ความปกติแบบใหม่ ในขณะที่ฉากทัศน์ที่เลวร้ายคงหมายถึงฉากทัศน์ที่โรคระบาดได้แพร่กระจายไปมากขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของผู้คน ธุรกิจและการงาน หรืออาจมีฉากทัศน์อนาคตอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปได้อีก
การคิดเชิงฉากทัศน์ (Scenario Thinking) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) จัดว่าเป็นศาสตร์แห่งผู้นำที่สำคัญ เนื่องจากเป็นวิธีคิดที่จะช่วยให้ผู้นำสามารถวางแผนสำหรับอนาคตภายใต้ความไม่แน่นอน สามารถขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางฉากทัศน์ที่หลากหลาย ตลอดจนสามารถวางเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถมองเห็นภาพเดียวกัน รวมถึงทำให้สามารถยอมรับความเป็นจริงที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้าหรือหายุทธศาสตร์จัดการได้อย่างเหมาะสมภายใต้ฉากทัศน์อนาคตที่หลากหลาย
ในบริบทของโควิด ที่แม้ไทยจะควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถวางใจได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งการควบคุมโรคระบาดในปัจจุบันของไทยและต่างประเทศ โอกาสในการระบาดรอบที่ 2 หรือ 3 ในประเทศไทย เช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ หรือความไม่แน่นอนของวัคซีนที่ยังอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี
ภายใต้ความไม่แน่นอนดังกล่าว การคิดเชิงฉากทัศน์จึงมีความสำคัญที่ทุกองค์กรทั้งรัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยองค์กรควรจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลและอินเทลลิเจนท์ต่างๆ นำไปสู่การวิเคราะห์ฉากทัศน์อนาคตที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อองค์กร พร้อมจัดทำข้อเสนอภายใต้ฉากทัศน์ที่แตกต่างกันไป
ทีมเฉพาะกิจนี้จะต้องร่วมกันสแกนแนวโน้มหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม(Environmental Scanning) ในช่วงโควิดและหลังโควิดใน 6 มิติที่สำคัญ หรือ STEEPV เราต้องประเมินแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงมิติต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงในมิติสังคม (Social) เนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีชีวิตของประชาชน ผู้บริโภค นักท่องเที่ยว ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพ การเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต รวมทั้งกลุ่มเปราะบางต่างๆ ในมิติเทคโนโลยี (Technology)
เรามองถึงความเร่งในการใช้เทคโนโลยี เช่น ดิจิทัล บล็อกเชน โดรน การเข้าถึงเทคโนโลยีของกลุ่มคนต่างๆ ความเสี่ยงและโอกาสจากเทคโนโลยี ขณะที่มิติเศรษฐกิจ (Economic) ที่ต้องพิจารณาคือสาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบทางลบและทางบวกจากโควิด โอกาสธุรกิจและโมเดลธุรกิจใหม่ การจ้างงาน การล้มละลาย การปรับตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ
โควิดยังส่งผลกระทบต่อมิติสิ่งแวดล้อม (Environment) นั่นหมายความว่าต้องประเมินแนวโน้มการปรับตัวสู่ความยั่งยืน การใช้ทรัพยากร นโยบายความมั่นคงอาหาร น้ำและพลังงาน ปริมาณขยะ ทัศนคติ กฎระเบียบและพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนการเปลี่ยนแปลงในมิติการเมือง (Political) อาจอยู่ในรูปของมุมมองการเมืองในการบริหารจัดการที่เปลี่ยนไปทั้งฝั่งรัฐบาลและภาคส่วนอื่นๆ นโยบาย ทิศทาง แผนงานและกลไกการดำเนินงานของรัฐ มาตรการฟื้นฟูเยียวยา สาธารณสุขและเศรษฐกิจของภาครัฐ พลังการเมืองของฝ่ายต่างๆ
สุดท้ายในมิติคุณค่า (Values) ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญ โดยผู้คนจะมีทัศนคติหรือการให้คุณค่าในเรื่องต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเพียงใดทั้งในเรื่องสุขภาพ การแบ่งปัน การทำงาน การเรียนรู้ การใช้ชีวิต การจับจ่ายใช้สอย การใช้เวลาว่าง และครอบครัว
ภายใต้สถานการณ์โควิดถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการฝึกจับสัญญาณอ่อน (Weak Signal) หรือการเปลี่ยนแปลงในจุดเล็กๆ ที่เริ่มเห็นสัญญาณพอสมควรแม้จะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็อาจพัฒนาเป็นแนวโน้มสำหรับอนาคตหรือความปกติใหม่ได้ หากองค์กรจับสัญญาณอ่อนได้ล่วงหน้าก็สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น เราต้องประเมินถึงด้านความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อฉากทัศน์อนาคตที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนที่จะกระทบกับธุรกิจหรือองค์กรของตนมากที่สุด เช่น ความไม่แน่นอนว่าจะเปิดหรือปิดประเทศ ความไม่แน่นอนว่าจะสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดีหรือไม่ ความไม่แน่นอนในมาตรการเปิดเมืองหรือการเปิด-ปิดสลับกัน ความไม่แน่นอนในการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ความไม่แน่นอนในการค้นพบและกระจายวัคซีนในระยะกี่ปี
ภายใต้ความไม่แน่นอนที่สำคัญจะนำไปสู่การจัดทำฉากทัศน์อนาคต (Scenario Building) ตลอดจนการวางยุทธศาสตร์และจัดทำแผนเพื่อตอบโจทย์ฉากทัศน์อนาคต เช่น ภายใต้ฉากทัศน์ที่มีการเปิดและปิดเมืองสลับกัน เหตุการณ์ภายใต้ฉากทัศน์นี้จะเป็นอย่างไร ภายใต้ฉากทัศน์ที่มีการระบาดรอบที่ 2 ที่หนักกว่ารอบที่ 1 เหตุการณ์ภายใต้ฉากทัศน์นี้จะเป็นอย่างไร การวางยุทธศาสตร์และแผนรองรับฉากทัศน์ต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องคิดไว้ล่วงหน้า
นอกจากนั้น การจัดทำตัวชี้วัดหรือตรวจสอบว่าสถานการณ์มีแนวโน้มไปในฉากทัศน์ใด จะช่วยให้องค์กรสามารถนำยุทธศาสตร์หรือแผนต่างๆ มาใช้ได้ทันที เมื่อฉากทัศน์กำลังเกิดขึ้นจริง
ภายใต้สถานการณ์โควิดปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง การคิดเชิงฉากทัศน์อนาคตเพื่อเตรียมการรับมือเหตุการณ์ล่วงหน้าถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะทำให้ผู้นำทุกองค์กรสามารถปรับตัวไปพร้อมกับสถานการณ์อย่างยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงและเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างทันท่วงที
โดย...
ธราธร รัตนนฤมิตศร
ประกาย ธีระวัฒนากุล
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
https://ift.tt/2YAJnAY
"คิด" - Google News
June 02, 2020 at 02:02PM
https://ift.tt/36VJlpB
Scenario Thinking ทักษะคิดที่ต้องมีในยุคโควิด | คิดอนาคต - กรุงเทพธุรกิจ
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog
No comments:
Post a Comment