Pages

Wednesday, August 12, 2020

มาเร็วกว่าที่คิด - โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์การเมือง - โพสต์ทูเดย์

apapikirnya.blogspot.com

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

**************

ในช่วงเวลานี้ สังคมห่วงใยเกี่ยวกับการชุมนุมของนักศึกษาที่เริ่มจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกระจายไปตามสถานศึกษาต่างๆ ท้งใน กทม.และต่างจังหวัด ล่าสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า นอกจากเป็นการใช้สิทธืเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้ว มีการกระทำที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่อย่างไร หากมี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร เมื่อไร

ประเด็นที่จะพูดคุยกันในวันนี้ คือ “เส้นแบ่งระหว่างสิทธิเสรีภาพกับการบังคับใช้กฎหมาย” และ “ เส้นแบ่งระหว่างสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของประชาชน”อยู่ตรงไหน อีกทั้งต้องระวัง “ความรู้สึกของประชาชนที่ปฏิบัติตามกฎหมายว่า ตนเป็น “ผู้เสียเปรียบทางสังคม” ในขณะที่ผู้ไม่เคารพกฎหมายจะทำอะไรก็ได้โดยอ้างสิทธิเสรีภาพ จนมีเสียงบ่นออกมาว่า “คนดีเริ่มอยู่ในสังคมยากขึ้นทุกที” ในขณะที่คนที่ไม่เคารพกฎหมายนึกอยากจะทำอะไรก็ได้ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่เห็นทำอะไร

รัฐบาลตกเป็น “จำเลยของสังคม” ว่า ทำไมปล่อยให้มีการละเมิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง โดยที่รัฐบาลไม่ดำเนินการใด ๆ ซ้ำเวลาฝ่ายประชาชนที่รักสถาบันจะออกมาเคลื่อนไหวบ้าง ก็ถูกขอร้องแกมบังคับไม่ให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะเกรงว่าจะเผชิญหน้ากับอีกฝ่าย ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดี แต่พออีกฝ่ายหนึ่งทำบ้างซึ่งมีทั้งการล่วงละเมิด จาบจ้วง เสียดสี สถาบันสูงสุด รัฐบาลกลับไม่ทำอะไร

คนเป็นรัฐบาลเมื่อเจอสภาวะแบบนี้ก็เหนื่อยเหมือนกัน รัฐบาลต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เพื่อทุ่มความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งเป็นภัยคุกคามเฉพาะหน้า และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 รัฐบาลไม่ต้องการเผชิญหน้าหรือสาดน้ำมันเข้ากองเพลิงขณะที่มีการชุมนุม แต่เลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายหลังจากนั้นในเวลาที่เหมาะสม ด้วยการดำเนินคดีตามกฎหมายกับทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายหลายสิบคน ดังมีรายชื่อที่เผยแพร่ตามสื่อโซเชียลทั่วไป

คนหนุ่มสาวและนิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ออกมาชุมนุมในรูปของแฟลชม็อบ หรือมินิม็อบ อะไรก็แล้วแต่ มักจะอ้างสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการรับรองจากสากลและรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับรวมทั้งฉบับปี 2560 ในขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้คัดค้านสิทธิเสรีภาพดังกล่าว เพียงแต่เห็นว่า หากมีการใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ รัฐต้องบังคับใช้กฎหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

เมื่อเกิดการชุมนุมขึ้นมาแต่ละครั้ง เราก็ต้องไปเปิดดู รัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 ระบุไว้ชัดเจนว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

แต่ผู้ชุมนุมต้องอ่านให้จบเพราะมีวรรคต่อไปเขียนว่า “ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้น ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่น “ ผู้ชุมนุมแต่ละครั้งจะอ้างส่วนแรกในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองเท่านั้น แต่ “เลือกที่จะไม่พูด” ให้ผู้ร่วมชุมนุมได้รับทราบว่าอะไรที่ทำไม่ได้ เพราะอะไร

คนไทยทุกคนไม่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้น มีเสรีภาพในการชุมนุมโดยได้รับหลักประกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรค 1 จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ”

เช่นเดียวกัน คนไทยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 34 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวีธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศี่ลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

สรุปว่า อะไรที่ทำไม่ได้ ชุมนุมไม่ได้ พูดไม่ได้ เขาจะห้ามไว้พร้อมเหตุผลโดยออกเป็นกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน ไม่ใช่ใช้อารมณ์ของเจ้าหน้าที่

บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินอาจารย์และนักศึกษาอ้างว่าทำได้ทุกอย่าง เพราะนี่คือ ” เสรีภาพทางวิชาการ “ เรื่องนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ยอมรับเสรีภาพทางวิชาการไว้ชัดเจนในมาตรา 34 วรรค 2เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น” แต่ไม่ใช่ว่าเอะอะก็อ้างเสรีภาพทางวิชาการไปเรื่อย เพราะการใช้เสรีภาพดังกล่าวมีขอบเขตเช่นกัน

ให้เปิดดูหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย “มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (3) ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด (6) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม”

เตือนไว้สำหรับคนที่ชอบส่งข้อความ “เฮต สปีช” ในสื่อออนไลน์ นอกจากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของปวงชนชาวไทยแล้ว อาจถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย

การชุมนุมของนักศึกษาที่กระจายไปตามที่ต่างๆ ในกทม. เช่น ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นต้น เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีกฎหมายย่อยที่ผู้ชุมนุมต้องกระทำ อาทิ การขออนุญาตการชุมนุม เพราะการชุมนุมอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ไปอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มาชุมนุม

ถ้าผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมาย ตำรวจออกหมายจับได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องจับกุมขณะนั้นเพราะเป็นการเผชิญหน้าและอาจเกิดความวุ่นวายได้ ทั้งผู้ชุมนุมและตำรวจต่างทำหน้าที่ของตน การออกหมายจับที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้ง ถ้าตำรวจไม่ทำก็เท่ากับเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

สองวันที่ผ่านมา สังคมพูดถึงและวิจารณ์กันมากต่อการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนทั้งภาพและคำบรรยายที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เสียดสี กระทบกระแทกต่อสถาบันกษัตริย์อย่างโจ่งแจ้ง ปลุกระดมให้ผู้ชุมนุมเกิดอารมณ์ร่วมในการเกลียดชัง เป็นการกระทำที่ “เหิมเกริม” และ “ขาดสติ” ของคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง เสียงวิจารณ์ทั้งในสภาและนอกสภา ผ่านสื่อทุกสื่อต่อคนหนุ่มสาวผู้ชุมนุม เป็นไปอย่างรุนแรง กว้างขวาง ต่อเนื่อง

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผู้จัดการชุมนุมได้มีการเตรียมแผนไว้ล่วงหน้าอย่างรอบคอบ เป็นระบบ มีการประสานงาน (รับคำสั่ง) กับกลุ่มชังเจ้าที่อยู่นอกประเทศ เรียกว่า “เปิดหน้าชน” สถาบันสูงสุดตรง ๆ อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยเริ่มมาตั้งแต่วันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2563 แต่วันนั้น ค่อนข้างฉุกละหุกมาก จึงทำได้ที่เชียงใหม่แห่งเดียวและในเวลาบ่ายคล้อย แต่ครั้งนี้ มีการเตรียมตัวอย่างเต็มที่โดยใช้แนวคิดเดิม พร้อมกับใช้เทคโนโลยีสีแสงประกอบ จากนั้นก็นำมาเผยแพร่ต่อในสื่อดิจิตัลที่ไปกว้างกว่า เร็วกว่า

อย่างไรกีดี สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีผู้สนับสนุนด้านการเงินซึ่งต้องใช้งบประมาณสำหรับการนี้หลายแสนถึงล้านบาท นักศึกษาคงไม่มีปัญญาที่จะหาเงินจำนวนนี้ได้ ดังนั้น ตำรวจและหน่วยข่าวต่าง ๆ ต้องหาตัว “ ไอ้โม่ง” กลุ่มนี้ให้เจอ

เห็นใจผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอธิการบดีคนปัจจุบันซึ่งกำลังหาเสียงเพื่อรับเลือกเป็นอธิการบดีสมัยที่สอง คำชี้แจงของทานไม่มีน้ำหนักเลย เรื่องนี้คงทำให้คะแนนนิยมของท่านลดไปเยอะ ส่วน ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีซึ่งรับผิดชอบบริหารศูนย์รังสิต ต้องรับหน้าเสื่อเต็ม ๆ

ท่านได้ออกมาชี้แจงกับสังคม สรุปว่า “ นักศึกษาผู้จัดชุมนุมขอใช้สถานที่โดยแจ้งว่า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ ไม่ได้มีการแจ้งว่า จะมีการปราศรัยหรือแสดงออกในประเด็นเรื่องอื่นแต่อย่างใด .......แต่ผู้ปราศรัยบางคนที่ไม่ได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการปราศรัยในทางที่จะเป็นปัญหาได้ดังที่ปรากฏ ”

ท่านรองอธิการน่าจะสะกิดใจสักนิดว่า ในชุมนุมย่อยที่ผ่านมา มีการพูดการเขียนที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนผู้กระทำถูกออกหมายจับ การจัดงานครั้งนี้ โอกาสที่จะมีการแสดง การพูด ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบันสูงสุดมีมาก และควบคุมยาก ดังนั้น ควรต้องหามาตรการแก้ไขปัญหากรณีฉุกเฉินไว้ด้วย เพราะการขอร้องอย่างเดียวคงไม่พอ

นี่เป็นอุทาหรณ์สำหรับท่านอธิการบดีคนต่อไป (จะเป็นคนเก่าหรือคนใหม่ก็ตาม) เนื่องจากคงมีคนมาขอหรือเช่าใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดประชุมหรือชุมนุมอีก เพราะธรรมศาสตร์เปิดกว้างด้าน “เสรีภาพทางวิชาการ” คนจัดบางรายที่ไร้จิตสำนึกและความรับผิดชอบ กระทำการอันทำให้เจ้าของสถานที่ปวดหัวบ่อย ๆ

แม้ ดร.ปริญญา ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากสังคม แต่ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่ท่านพูดตอนหนึ่งน่าจะสะกิดใจให้นักวิชาการและนักศึกษา คนหนุ่มสาวที่ชุมนุมหรือคิดจะชุมนุมต่อไปตระหนัก ก็คือ

“ แม้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะให้เสรีภาพในการแสดงออก แต่การแสดงออกควรต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพึงระวังในเรื่องละเอียดอ่อนและเรื่องที่อาจจะนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคม”

ประเทศปกครองด้วยกฎหมาย หากใช้เสรีภาพเกินขอบเขตจนไม่มีการเคารพและการบังคับใช้กฎหมาย บ้านเมืองคงวุ่นวายยุ่งเหยิง

เรื่องนี้มาเร็วกว่าที่คิด สภ.คลองหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ อย่างเด็ดขาและตรงไปตรงมา เหมือนกับที่ สน.สำราญราษฎร์ได้ออกหมายจับคนทำผิดกฎหมายไปก่อนนี้แล้ว

ประชาชนจะได้เข้าใจถึงดุลยภาพระหว่างสิทธิเสรีภาพกับการบังคับใช้กฎหมาย คนจริงถ้ากล้าที่จะละเมิดกฎหมาย ก็ต้องกล้าที่จะติดคุก (จบ )

***********************

Let's block ads! (Why?)



"คิด" - Google News
August 12, 2020 at 06:43PM
https://ift.tt/2PJHoES

มาเร็วกว่าที่คิด - โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์การเมือง - โพสต์ทูเดย์
"คิด" - Google News
https://ift.tt/2zKBRJC
Home To Blog

No comments:

Post a Comment